416 อำเภอเสี่ยงประสบปัญหาภัยแล้ง
แม้ว่าขณะนี้จะอยู่ในช่วงเพียงแค่ต้นปี และปกติก็จะประสบปัญหาภัยแล้งไม่มากนัก แต่ล่าสุด จากการสำรวจของกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่ามี 416 อำเภอกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะประสบภัยแล้ง และเป็นการภัยแล้งที่จะมาเร็วกว่าปกติ
โดยความสุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ได้มีการประเมินมาจากการคำนวนน้ำต้นทุนและการใช้น้ำในแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภค - บริโภค หรือการรักษาระบบนิเวศ ซึ่งขณะนี้มี 416 อำเภอ จากทั้งหมด 878 อำเภอทั่วประเทศ มีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้ง
โดยแยกเป็นเขตชลประทาน 140 อำเภอ จุดหลักอยู่ที่พื้นที่ภาคเหนือต่อเนื่องภาคกลาง ซึ่งเสี่ยงขาดน้ำการเกษตร ขณะที่นอกเขตชลประทาน 276 อำเภอ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสี่ยงขาดน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงการเกิดภัยแล้งขณะนี้มีจาก 3 สาเหตุ คือ 1.น้ำทะเลหนุนสูงและต้องใช้น้ำจืดผลักดัน 2.การใช้น้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวช่วงที่กำลังตั้งท้อง และ 3.อุณภูมิสูง สภาพอากาศแห้งแล้ง จะทำให้น้ำสูญหายโดยธรรมชาติมีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ครั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทาน บอกว่า ทำอยู่บนพื้นฐานความไม่ประมาท โดยเฉพาะจุดที่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี และสุพรรณบุรี เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวนาปรังมากกว่าแสนไร่ แต่เบื้องต้นการแก้ไขปัญหาจะเน้นหนักไปที่ 276 อำเภอ เพราะในจำนวนนี้เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
เพราะขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักทั่วประเทศมีอยู่ 41,599 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ใช้การได้เพียง 17,796 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2558 ถึงกว่า 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
ดังนั้นการแก้ไขปัญหาตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้เร่งทำ ทั้งในส่วนของการบริการจัดการน้ำกิน-น้ำใช้ ควบคู่ไปกับการเพิ่มน้ำต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นกาารขุดเจาะบ่อบาดาล 2,000 บ่อ ติดตั้งระบบประปาหมู่บ้าน เพื่อป้องกันปัญหาการแย่งชิงน้ำ