เยอรมนี-วิหารหนังสือต้องห้ามสะท้อนการกดขี่ในสังคม
ศิลปินชาวอาร์เจนตินา สร้างงานศิลปะเชิงวิพากษ์สังคมและการเมือง โดยนำหนังสือต้องห้าม ในสมัยนาซีนับแสนเล่ม มาประกอบเป็นปราสาทสไตล์กรีกโบราณ
ผลงานศิลปะรูปทรงคล้ายกับ วิหารพาร์เธนอน (Parthenon) ในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ที่เห็นอยู่นี้ คือ ผลงานโบว์แดงชิ้นล่าสุดของ Marta Minujin ศิลปินหญิงชาวอาร์เจนตินา วัย 74 ปี โดยจัดแสดงอยู่ที่ศูนย์แสดงนิทรรศการ ในเมืองคัสเซิล (Kassel) ทางตอนเหนือของรัฐ เฮสเซิน ประเทศเยอรมนี ด้วยขนาด ยาว 70 เมตร กว้าง 31 เมตร และสูง 10 เมตร
ผลงานสุดอลังการนี้ ถูกประกอบขึ้นจากโครงเหล็กจำนวนมาก เพื่อใช้เป็นฐานรองรับหนังสือนับแสนเล่ม ที่ได้ชื่อว่า เป็นหนังสือต้องห้ามสมัยนาซีเยอรมัน ซึ่งหลายเล่มในจำนวนนี้ เป็นหนังสือต้องห้าม จนรัฐบาลเยอรมนีสั่งให้เผาทำลาย
หนังสือแต่ละเล่มที่นำมาใช้งานครั้งนี้ ถูกห่อพลาสติกอย่างดี ก่อนมีทีมงานนำขึ้นกระเช้าไปบรรจงตกแต่งตามส่วนต่างๆ ของโครงเหล็ก จนเกิดเป็นวิหารหนังสือสุดตระการตา ที่มีชื่อเรียกว่า เรียกว่า"Parthenon of Books"
โดยในยามค่ำคืน มันจะถูกประดับประดาด้วยไฟแสงสีสวยงาม กลายเป็นนิทรรศการที่คอหนังสือหายาก ต่างอยากเดินทางมาชมกันถ้วนหน้า
ศิลปิน เล่าว่า ในบรรดาหนังสือนับแสนเล่มที่ถูกนำมาจัดแสดงมีอีกราว 170 เล่ม ที่ยังคงอยู่ในสถานะหนังสือต้องห้าม เธอจึงต้องการให้ผลงานชิ้นนี้ สะท้อนภาพการกดขี่ทางสังคม จากบุคลากรในภาคการเมือง โดยเป็นการกดขี่ประชาชน ผ่านการออกคำสั่งห้ามหาความรู้จากหนังสือ ซึ่งสิ่งที่น่าเศร้า คือ การกดขี่ดังกล่าวยังคงมีให้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน