กกต.เร่งหาข้อยุติกรณบัตรเลือกตั้ง
ประธาน กกต. เชื่อว่าคำสั่งปลดล็อคพรรคการเมือง ของ คสช.เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะเป็นวันเดียวกับที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ ขณะเดียวกัน ก็ระบุว่า กกต. จะเร่งพิจารณา กรณีบัตรเลือกตั้งให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว โดยยึดหลักที่เคยปฎิบัติมา พร้อมคำนึงถึงความคิดเห็นของฝ่ายต่าง ๆ ที่ปรากฎออกมาด้วย
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แสดงความเห็น กรณีคำสั่งคสช.ปลดล็อกให้พรรคการเมือง สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ว่าถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะเป็นวันเดียวกับที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ แต่ยังให้ความเห็นไม่ได้ว่าพรรคการเมือง จะสามารถดำเนินการเรื่องใดได้บ้าง
ส่วนกรณีบัตรเลือกตั้ง กกต. จะพิจารณาให้ได้ข้อยุติในเร็ววันนี้ โดยหลักของการพิจารณา คือจะยึดตามแนวปฏิบัติที่เคยดำเนินการมา พร้อมกับคำนึงถึงความคิดเห็นของฝ่ายต่าง ๆ ที่ปรากฏออกมาด้วย และยังแสดงความเห็นว่าบัตรเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต มีเพียงหมายเลขและช่องลงคะแนนมานานแล้ว เพราะบัตรที่มีโลโก้ชื่อพรรคนั้น เป็นบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2544 ไม่ใช่บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขต
แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่มีการเลือกส.ส.บัญชีรายชื่อ แล้วได้นำเอาผลการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต มาคำนวณจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อแทน ซึ่ง กกต. จะนำประเด็นนี้มาพิจารณาด้วย โดยยืนยันว่าการพิจารณาของ กกต. ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรจะต้องมีเหตุผลชี้แจง ว่าเลือกแบบนี้เพราะอะไร รวมถึงปัจจัยเรื่องกรอบเวลา เรื่องการเลือกตั้งล่วงหน้า และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณาด้วย พร้อมชี้แจงว่าไม่มีการแทรกแซงจากฝ่ายใด ในการพิจารณารูปแบบบัตรเลือกตั้ง
ขณะที่นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. แถลงยืนยันว่า ขณะนี้ กกต. ออกแบบบัตรเลิกตั้งเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบที่มีเพียงหมายเลขผู้สมัครเพื่อให้ใช้ได้เหมือนกันทุกเขตทั่วประเทศ กับรูปแบบที่ 2 มีทั้งชื่อพรรคและโลโก้พรรค แต่จะแตกต่างกันทั้ง 350 เขต เพราะการจับฉลากหมายเลขผู้สมัครแยกเป็นรายเขต ทำให้แต่ละเขตจะแตกต่างกัน
พร้อมยืนยันว่า กกต. มีความพร้อมจัดพิมพ์ทั้ง 2 รูปแบบภายใต้เงื่อนไขสำคัญ คือ กกต. ต้องพิมพ์บัตรที่ส่วนกลางเท่านั้น เพื่อความเป็นปลอดภัยและความโปร่งใส ไม่สามารถพิมพ์ในโรงพิมพ์ต่างจังหวัดได้ ซึ่งหาก กกต. เลือกรูปแบบที่มีโลโก้พรรค การจัดส่งไปยัง 350 เขตเลือกตั้งที่ต่างกัน ก็เชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะรถที่ขนส่งมีระบบ GPS สามารถ ตรวจสอบได้ โดยสัปดาห์หน้าจะเสนอ กกต. มีมติเลือกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก่อนดำเนินการจัดพิมพ์ในวันที่ 20 ม.ค. 2562
รองเลขาธิการ กกต. ยังระบุว่า หากพรรคการเมืองต้องการให้บัตรเลือกตั้ง เป็นแบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ก็สามารถทำได้ แต่พรรคการเมืองต้องตกลงกันเอง หากตกลงกันได้ ในการประชุมพรรคการเมืองกับ กกต.ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ โดยในการประชุมดังกล่าว จะเปิดช่องให้พรรคการเมืองตกลงกันเองเพื่อกำหนดคิว ในการยื่นสมัคร เพื่อจะได้หมายเลขพร้อมกันทุกเขต แต่ปัญหาคือพรรคที่ไม่ได้ส่ง 350 เขต จะยินยอมหรือไม่