ทีมสัตวแพทย์ติดตามอาการหลังผ่าตัดเต่ากินเหรียญ
ทีมสัตวแพทย์ ยังติดตามอาการเต่าออมสิน หลังผ่าตัดเอาเหรียญออกจากท้องเต่า โดยต้องเฝ้าดูอาการ 1-2 สัปดาห์ หลังแผลผ่าตัดหายดียังต้องรักษาพิษของโลหะหนักที่สะสมในร่างกาย และวิธีอื่นๆ ควบคู่กันไปเพื่อให้เต่าแข็งแรง
รศ.สัตวแพทย์หญิง นันทริกา ซันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า หลังการผ่าตัดเต่า"ออมสิน"เต่าตนุเพศเมีย อายุ 25 ปี จากศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ฐานทัพเรือสัตหีบกองทัพเรือ และสามารถคีบเหรียญที่เต่ากลืนเข้าไปอยู่ในท้องน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม ออกมาได้ทั้งหมด
โดยทีมสัตวแพทย์ ยังเฝ้าติดตามอาการของเต่าอย่างใกล้ชิด เบื้องต้น ระยะของการเฝ้าติดตามอาการประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยเต่าออมสินต้องนอนพักฟื้นบนพื้นแห้ง ไม่มีน้ำ เนื่องจากต้องรักษาแผลผ่าตัด ยังโดนน้ำไม่ได้ ต้องใช้ผ้าชุบน้ำให้มีความชื้นคลุมตัวเต่าไว้ ทั้งนี้ สภาพของเต่าออมสินยังมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากการผ่าตัดที่ใช้เวลายาวนานและร่างกายของเต่าโทรมมาก หลังจากแผลผ่าตัดหายดีแล้วอาจต้องรักษาพิษของโลหะหนักที่สะสมในร่างกายเต่ามานาน และยังต้องรักษาวิธีการอื่นๆ ควบคู่กันไปเพื่อให้เต่ากลับมาแข็งแรง
การผ่าตัดเต่าช่วยชีวิตเต่าด้วยการเอาเหรียญที่กลืนเข้าไปออกมา ถือเป็นครั้งแรกของโลก และ ระยะเวลาในการผ่าตัดที่นานกว่า 7 ชั่วโมง เพื่อคีบเหรียญมากถึง 915 เหรียญออกจากท้องเต่า จึงเป็นที่สนใจจากผู้คนจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ โดยมีสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง เผยแพร่ข่าวการผ่าตัดครั้งนี้ และ เชื่อว่าข่าวนี้จะเปลี่ยนแนวคิดการทำบุญด้วยการโยนเหรียญลงในบ่อสัตว์น้ำ ซึ่งมีผลกระทบกับสัตว์โดยตรง โดยพบว่ายังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่อยู่ในแหล่งทำบุญ