สดร.เชิญชมปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลกมากสุดคืนลอยกระทง
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เชิญชวนคนไทยร่วมชมปราฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบเกือบ 68 ปี คืนวันลอยกระทง พรุ่งนี้ หากพลาดชมจะต้องรอไปอีก 18 ปี
ปรากฏการณ์"ซูเปอร์มูน"ในคืนวันพรุ่งนี้ วันที่ 14 พฤศจิกายน ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีนี้ ที่ระยะห่างประมาณ 356,511 กิโลเมตร และยังเป็นการโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 68 ปี นับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2491 ซึ่งในคืนวันพรุ่งนี้จะสามารถสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวง มีขนาดใหญ่กว่าปกติประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์ และ มีความสว่างมากกว่าปกติถึง 30 เปอร์เซ็นต์ สามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงได้ด้วยตาเปล่าทางตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ตกตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ องค์การมหาชน หรือ สดร. อธิบายว่าตามหลักวิทยาศาสตร์ แม้ดวงจันทร์จะมีตำแหน่งโคจรใกล้โลกทุกเดือน แต่ไม่ได้ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง นับเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้ร่วมสังเกตการณ์ได้ชัดเจน และยังเกิดขึ้นในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นคืนวันลอยกระทง
ผู้สนใจสามารถเฝ้ารอชม และ เก็บภาพความสวยงามของดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกในคืนวันลอยกระทงกันได้ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ สดร.จัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์นี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา และ จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมเครือข่ายดาราศาสตร์ อีกกว่า 160 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 17.00-22.00 น.
ด้านองค์การนาซา ออกมาเปิดเผยว่าปรากฏการณ์"ซูเปอร์มูน"ไม่ใช่เป็นปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงที่ใกล้โลกที่สุดในปี 2559 แต่ใกล้โลกที่สุด ในศตวรรษที่ 21 หากพลาดชมจะต้องรอไปถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2577 หรือ อีก 18 ปี