สืบสานพระราชปณิธานรักษาป่าพ่อหลวง
หลายครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏร จะทรงเน้นย้ำให้ชาวบ้านช่วยกันรักษาผืนป่า เพราะป่าเป็นทั้งแหล่งน้ำ และแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งก็มีชาวบ้านในหลายพื้นที่สืบสานพระราชปณิธาน พร้อมใจกันรักษาป่า
โดยที่บ้านดอยพญาพิภักดิ์ ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย เป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏร เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2525 และได้พระราชทานที่ทำกินให้กับชาวบ้าน แต่ให้ยกเว้นภูเขาลูกใหญ่ทางด้านทิศใต้ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าป่าดอยยาวเอาไว้ และขอให้ชาวบ้านช่วยกันดูแล ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่บุกรุกทำประโยชน์เพื่อการเกษตร ทำให้ ป่าดอยยาว มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ และสัตว์ป่านานาชนิด ชาวบ้านจึงเรียกว่าป่าผืนนี้ว่า ป่าในหลวง ปัจจุบันป่าดอยยาว อยู่ในความดูแลของวนอุทยานพญาพิภักดิ์ ได้รับการส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ในการชมดอกเสี้ยว ที่สวยที่สุดอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย
ที่ชุมชนบ้านปากขวด อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการเปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เพื่อเผยแพร่ผลสำเร็จของการดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรดิน, น้ำ และป่า ตามแนวพระราชดำริ โดยนายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมป์ เป็นประธาน
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนบ้านปากขวด มี 4 จุดด้วยกัน ประกอบด้วย จุดที่ 1 การอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำอย่างมีส่วนร่วม จุดที่ 2 ระบบสำรองน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภค จุดที่ 3 ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน และจุดที่ 4 กองทุนชุมชน ความสุขที่ยั่งยืน