วิศวกรรมสถานฯ ชี้แบบก่อสร้างเทอร์มินอล 2 สนามบินสุวรรณภูมิ มีปัญหาด้านความปลอดภัย
วิศวกรรมสถานฯ ชี้แบบก่อสร้างเทอร์มินอล 2 สนามบินสุวรรณภูมิ มีปัญหาด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะการใช้ไม้ ซึ่งเป็นวัสดุลามไฟในการตกแต่งอาคารผู้โดยสาร
นายเกชา ธีระโกเมน อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หรือ วสท.เปิดเผยว่า ได้เห็นภาพและข้อมูลของแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิผ่านสื่อมวลชนแล้ว พบว่ามีการใช้ไม้จำนวนมากเป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบ แต่ยังไม่เห็นผังอาคารส่วนอื่น ๆ โดยเห็นว่าการใช้ไม้จำนวนมากมาเรียงประกอบกันที่หัวเสาและเพดาน จะมีความเสี่ยงอันตรายหากเกิดไฟไหม้ เพราะทำให้ติดไฟได้รวดเร็วและมีความเสียหายที่รุนแรง ขณะที่ระบบดับเพลิงที่มีตามมาตรฐานจะไม่สามารถรองรับขนาดไฟที่ลุกขึ้นได้ ขณะเดียวกันตามมาตรฐานสากล NFPA101 ของสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ไม่อนุญาตให้ใช้ไม้ซึ่งเป็นวัสดุลามไฟ ในการตกแต่งอาคารชุมนุมคนจำนวนมาก นอกจากนี้การใช้ไม้ยังมีปัญหาเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย การทำความสะอาดและการซ่อมบำรุง
ขณะที่ ผศ.ดร.ชูชัย สุจิวรกุล คณะอนุกรรมการมาตรฐานอาคารคอนกรีต วสท. กล่าวว่า ตามมาตรฐานสากล และมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง กำหนดให้อาคารสาธารณะและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ เช่น อาคารผู้โดยสารสนามบิน จำเป็นต้องใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพมากกว่าปกติ โดยเฉพาะคุณสมบัติด้านอัคคีภัย วัสดุก่อสร้างโครงสร้างอาคารต้องมีคุณสมบัติทนไฟ โดยเสาและคาน ต้องมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง หรือ บริเวณพื้น ต้องมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง แต่สำหรับการใช้ท่อนไม้มาเรียงต่อกันเหมือนที่เห็นในแบบของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิ ก็ห่วงว่า การใช้ไม้มาทำโครงสร้าง หรือเป็นวัสดุตกแต่งจะไม่เหมาะสม เพราะไม้มีอัตราการทนไฟต่ำ ควรใช้วัสดุอื่นที่มีอัตราการทนไฟสูงมาแทนไม้
นายธเนศ วีระศิริ นายก วสท. กล่าวว่า เบื้องต้น วสท.เสนอแนะแนวทางการออกแบบและก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร หรือ เมกะโปรเจคต่าง ๆ จะต้องประกอบด้วย 5 เรื่องหลัก คือ
1. โครงการควรมุ่งการออกแบบเพื่อบริหารจัดการมากกว่าการให้ความสำคัญกับการตกแต่ง
2. การออกแบบและวัสดุที่ใช้ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนและผู้ใช้บริการเป็นหลัก
3. ควรนำเทคโนโลยี เช่น IoT, Big Data และ AI มาใช้บริหารจัดการอาคารผู้โดยสาร เพื่อป้องกันความแออัดในอนาคต
4. หากจำเป็นต้องจัดการประกวดแบบครั้งใหม่ ควรเชิญผู้มีความรู้หลายด้านมาระดมความเห็นเพื่อกำหนดกรอบสำคัญของการประกวดแบบให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้โดยสาร
5. คณะกรรมการพิจารณาตัดสินแบบควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม บริหารทรัพยากรอาคาร พลังงานและสิ่งแวดล้อมด้วยร่วมพิจารณาด้วย