ก.คลัง คลอด 3 มาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำรับซื้อยางเกษตรกร
กระทรวงการคลัง ร่วมหารือกับภาคเอกชน และธนาคารพาณิชย์ของรัฐได้ข้อสรุป 3 มาตรการ เข้าช่วยชาวสวนยาง ให้สินเชื่อ 0% อคส.-การยางฯ รับซื้อยาง 1 แสนตัน เตรียมเข้า ครม.สัปดาห์หน้า
โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการที่ออกมาเป็นมาตรการระยะสั้น แยกเป็น 2 มาตรการใหม่ และ 1 มาตรการเก่าที่ปรับปรุงใหม่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวสวนยาง โดยจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า และจะมีผลบังคับใช้ทันที
โดย 2 มาตรากรใหม่ประกอบด้วย ให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส.ปล่อยสิน อัตราดอกเบี้ย 0% แก่องค์การคลังสินค้า หรือ อคส. และการยางแห่งประเทศไทย เพื่อเข้ารับซื้อยางจากเกษตรกรจำนวน 1 แสนตัน ในราคาสูงกกว่าราคาตลาด คาดว่าจะใช้งบประมาณ 4,500 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยให้ทั้ง 2 ธนาคาร
ส่วนอีกมาตรการ คือ ให้หน่วยงานของรัฐ 8 แห่ง จ้างโรงงานเร่งผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยางให้สูงขึ้น โดยให้ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน, ธ.ก.ส., เอสเอมอีแบงก์, และธนาคารกรุงไทย ปล่อยสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่โรงงานที่มีคำสั่งซื้ออยู่ในปัจจุบัน โดยให้รัฐเป็นผู้รับภาระชดเชยดอกเบี้ย
และสุดท้ายเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการที่มีอยู่ในการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง ให้แก่ผู้ประกอบการที่มีการรับซื้อน้ำยางข้น ยางแผ่น และยางแท่งมาเก็บสต็อกเพิ่ม
ขณะที่นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ จะรับไปดูแลในส่วนของระยะยาว ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางในประเทศมากขึ้น พร้อมประสานให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาเรื่องการปล่อยสินเชื่อเพื่อลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมยังอยู่ระหว่งการติดตามตัวเลขความต้องการใช้ยางพาราช่วง 2-3 เดือนนี้ ซึ่งจะมีโรงงานยางพาราเปิดใหม่ประมาณ 20 แห่ง และคาดว่าทั้งปีจะมีการเปิดโรงงานรวม 79 แห่ง